วันจันทร์ที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2550

ใครรู้จักเหรียญฟิลด์ส (Fields Medal): บ้าง



เหรียญฟิลด์ส (Fields Medal): รางวัลสูงสุดของคนคณิตศาสตร์
- เหรียญฟิลด์ส (Fields Medal) เหรียญฟิลด์ส (Fields Medal) คือรางวัลทางคณิตศาสตร์ที่หลายคนถือว่าเป็นรางวัลสูงสุดทางคณิตศาสตร์ ถ้าใครเคยดูภาพยนตร์ Good Will Hunting ที่มี แมตต์ เดมอน และ เบน แอฟเฟลก แสดง อาจเคยได้ยินชื่อของรางวัลนี้มาบ้าง (หรือว่าคุณสาว ๆ จะมัวกรี๊ดความหล่อของดาราคู่นี้ จนไม่ได้ยินชื่อรางวัลนี้กันละครับ)
บางคนเทียบเหรียญฟิลด์สให้เป็นรางวัลโนเบลของคณิตศาสตร์ แต่บางคนบอกว่ารางวัลนี้ได้ยากกว่ารางวัลโนเบลเสียอีก !?! เราจะมาติดตามกันว่าเหรียญฟิลด์สเป็นมาอย่างไร รายละเอียดต่าง ๆ และเหรียญฟิลด์สนั้น ได้ยากเย็นแสนเข็นจริงหรือ? กำเนิดของรางวัล ความฝันของคนคณิตศาสตร์ ศาสตราจารย์ จอห์น ชาร์ลส์ ฟิลด์ส (John Charles Fields) นักคณิตศาสตร์ชาวแคนาดา ได้หมายมั่นปั้นมือจะให้มีรางวัลเป็นเกียรติกับนักคณิตศาสตร์ เพื่อเป็นหน้าเป็นตากับวงการ ให้เทียบเคียงกับรางวัลโนเบล (ที่ทอดทิ้งสาขาคณิตศาสตร์ให้เศร้าสร้อย) ท่านเสนอให้มีรางวัลนี้ในที่ประชุมสภาคณิตศาสตร์สากล จัดขึ้น ณ แคนาดา เมื่อปี พ.ศ. 2467 ท่านใช้พลังความเป็นประธาน บวกกับนักคณิตศาสตร์ทั้งหลายกำลังน้อยใจรางวัลโนเบล จึงพร้อมใจตกลงให้มีรางวัลนี้ แต่กว่าที่รางวัลจะคลอดมาได้ ฟิลด์สก็ล้มหมอนนอนเสื่อลงเพราะตรากตรำงาน แม้แต่ตอนป่วยไข้ ท่านก็ยังไม่ถอดใจ ได้สั่งเสียให้เพื่อนร่วมงานของท่านให้จัดทำรางวัลให้สำเร็จ พร้อมทั้งมอบเงินของท่านสมทบเป็นรางวัล ท่านเสียชีวิตเมื่อปีพ.ศ. 2475 และรางวัลเหรียญฟิลด์สได้ถูกตั้งขึ้นในปีถัดมา (คล้าย ๆ กับรางวัลโนเบล ที่ผู้ผลักดันเสียชีวิตก่อนรางวัลจะเกิดขึ้น) “เหรียญฟิลด์ส” เป็นชื่อเล่นของรางวัลนี้ ชื่อจริงของรางวัลนี้ยาวเหยียดเหมือนกับรางรถไฟ นามเต็มคือ “International medals for outstanding discoveries in mathematics” แม้คุณฟิลด์สจะทุบโต๊ะประกาศชัดเจนว่า “จงให้รางวัลนี้ เป็นรางวัลสากล ไม่เกี่ยวกับบุคคลหนึ่งบุคคลใด และให้ชื่อของรางวัลไม่เกี่ยวข้องกับประเทศ สถาบัน หรือชื่อของคน” แต่ชื่อรางวัลนี้ยาว.................มาก คนทั่วไปจึงเรียกรางวัลนี้สั้น ๆ ว่า “เหรียญฟิลด์ส” เพื่อเป็นเกียรติกับความฝันและความพยายามของคุณฟิลด์ส ด้านหน้าของเหรียญฟิลด์สเป็นรูปของอาร์คิมีดิส (Archimedes) ผู้เป็นทั้งนักคณิตศาสตร์ นักวิทยาศาสตร์ และวิศวกรสมัยโบราณผู้ยิ่งใหญ่ พร้อมทั้งข้อความเป็นภาษากรีกที่ต้องขอถ่ายทอดแบบเกรงจะผิดคือ (แก้ตัวว่า ดูจากหลายแหล่งแล้ว แปลไม่ค่อยเหมือนกัน) “ทะยานพ้นขอบเขตแห่งตน และเข้าใจซึ้งในจักรวาลทั้งมวล” อีกด้านมีคำจารึกที่แปลว่า “นักคณิตศาสตร์จากทั่วโลกชุมนุมกัน ณ ที่นี้ เพื่อให้เกียรติกับผลงานอันดีเลิศ”



วันอาทิตย์ที่ 7 ตุลาคม พ.ศ. 2550

Pythagoras...จอมอัจฉริยะแห่งกรีซ


ปีทาโกรัส(Pythagoras)
ประมาณ 572 - 500 ก่อนคริสต์ศักราช
ประวัติ
ปีทาโกรัสเป็นชาวกรีซ ท่านเคยศึกษาที่อียิปต์และได้ก่อตั้งสำนักปีทาโกเรียนที่เมืองCrotona ประเทศอิตาลี ปีทาโกรัสคิดว่าปริมาณต่างๆในธรรมชาติสามารถเขียนในรูปเศษส่วนของจำนวนนับ เมื่อมีการค้นพบจำนวนอตรรกยะขึ้นทำให้ปีทาโกรัสและศิษย์ทั้งหลายเสียขวัญและกำลังใจ เมื่อทางราชการขับไล่เพราะกล่าวหาว่าสำนักปีทาโกเรียนเป็นสถาบันศักดินา สำนักปีทาโกเรียนก็สูญสลายไป

ผลงานของสำนักปีทาโกเรียนที่สำคัญ คือ จำนวนคู่ จำนวนคี่ จำนวนเชิงสามเหลี่ยม จำนวนเชิงจัตุรัส จำนวนอตรรกยะ พีชคณิตเชิงเรขาคณิต ทฤษฎีบทปีทาโกรัส